วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ผ้าไหมสุรินทร์

คำว่า “โฮล” เป็นภาษาเขมร แปลว่าไหล อันสื่อความหมายถึง การไหลมาเทมาของเงินทองเกียรติยศ ชื่อเสียง และความมั่งคั่งของผู้สวมใส่ ผ้าไหมโฮล ยังหมายถึง ผ้าไหมลายน้ำไหลซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน
ผ้าโฮล เป็นผ้าทอพื้นเมืองสุรินทร์ และเป็นราชินีแห่งผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลานผ้าโฮลเป็นผ้าที่มีสีสันและลวดลายเด่น ลักษณะการทอจะเป็นจุดประสลับกับเส้นตรง ใช้ไหมคู่ 2 สีทอสลับกันเป็นลายตลอดไปทั้งผืน บางแห่งเรียกโฮลใบไผ่เนื่องจากมีลักษณะเป็นลายริ้วสลับกับลายมัดหมี่ ที่มีความกว้างประมาณครึ่งนิ้ว สลับกันไปดูคล้ายใบไผ่ ส่วนลายริ้วเปรียบเสมือนก้านใบไผ่เมื่อดูภาพรวมของลายผ้าจะคล้ายป่ามีปล่องช่องเขา มีลำธารน้ำ โฮลแดงเป็นการผสมผสานระหว่างลวดลายโบราณแต่มีการย้อมสีให้ออกสีแดงโดยใช้สีธรรมชาติในการมัดย้อม จึงเรียกว่า โฮลแดง นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในหมู่บ้านปราสาทเบงหมู่ที่ 14 ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

ผ้าโฮล เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมามีความสวยงาม ประณีต ในการทอ ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ กรรมวิธีในการทอผ้าทุกผืนจะต้องมีชายดังคำพังเพยของคนโบราณที่ว่า “ผู้หญิงสวยหน้า ทอผ้าสวยชาย” ลักษณะการทอชายผ้าหรือริมผ้าจะแตกต่างจากการทอผ้าชนิดอื่น คือมีการดึงเส้นไหมที่อยู่ชายผ้าตลบย้อนกลับเข้ามาในผืนผ้าเป็นการเก็บชายผ้า ทำให้ผ้าไม่ขาด และชายผ้าหนาขึ้น ดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญการมัดย้อมจะเริ่มต้นด้วยการย้อมสีแดงจากครั่งซึ่งเป็นสีที่ติดทนนาน สีไม่ตก ไม่หดตัว จึงถือว่าสีแดงเป็นเอกลักษณ์ของผ้าโฮล เหมาะสำหรับการนำไปตัดเย็บเพื่อสวมใส่หรือแปรรูปเป็นกระเป๋าก็ได้
ผ้าไหมมัดหมี่โฮลเปรียบเสมือนงานศิลปะ ที่ศิลปินในอดีตได้จินตนาการและคิดค้นขึ้นมา สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็น
ภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน


ผ้าโฮลเป็นผ้ามัดหมี่ที่ถูกประยุกต์มาจากผ้าปูมของเขมร จัดว่ามีลวดลายและกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนมาก เอกลักษณ์ของลายผ้าจังหวัดสุรินทร์ มีที่มาจาก กลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวไทเขมร ที่อพยพมาจากเขมร และชาวไทกูย ซึ่งอพยพมาจากลาว สุรินทร์จึงมีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนไปสู่ผ้าของสุรินทร์ที่ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ผ้ายก ผ้าอันปรม ผ้าสมอ ผ้าละเบิก ผ้ากระนิว(หางกระรอก) ผ้าชะโน๊ดลื้อ(ลายลูกแก้ว) ผ้าตรุยสะแน๊ ผ้าสาคู หรือ ผ้าโฮล ซึ่งถือว่าเป็นผ้าที่มีค่าสูงสุดในบรรดาผ้าสุรินทร์ทั้งหมด

มัดหมี่โฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอจากเส้นไหมน้อยที่มีขนาดเล็กละเอียด มีภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ลายผ้า 2 ลายด้วยการมัดหมี่ในครั้งเดียว ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะย์ ของผู้ชาย และ ผ้าโฮลเสร็ย ของผู้หญิง โดยเมื่อนำมาทอเป็นผ้าโฮลเสร็ย จะใช้วิธีการดึงลายให้เกิดลวดลายอีกแบบหนึ่งและเพิ่มองค์ประกอบของลวดลายเพิ่มเข้าไปซึ่งทำให้แตกต่างจากลายโฮลเปราะห์ ที่เป็นการอำพรางลายผ้าโฮลแบบของผู้ชายเอาไว้ รูปแบบลายมัดหมี่โฮลเหมือนสายน้ำไหล ซึ่งตามภาษาท้องถิ่นนั้น โฮลแปลว่าน้ำไหล ลายของผืนผ้า มีลักษณะเป็นลายริ้ว คล้ายก้านไผ่ และใบไผ่ คั่นด้วยเส้นไหมหางกระรอก มีความหมายว่า ความกลมเกลียวในหมู่คณะ



สีสันที่ย้อมเส้นไหม เป็นสีย้อมธรรมชาติที่แสดงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น สีหลักบนพื้นผ้าเป็นสีแดงเข้มที่ย้อมมาจากครั่ง ผสมผสานด้วยสีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งหมด 3 สี ได้แก่ เหลือง แดง น้ำเงิน มาผสมให้ได้ 5 สี คือ เหลือง แดง น้ำเงิน ม่วง (จากการผสมน้ำเงินกับแดง) และ เขียว (จากการผสมเหลืองกับน้ำเงิน) โดยย้อมสีแดงที่ได้จากครั่งเป็นอันดับแรก ตามด้วยสีเหลืองจากแก่นเขหรือแกแล และย้อมสีน้ำเงินด้วยครามเป็นลำดับสุดท้าย ในบางครั้งอาจจะมีการใช้สีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ที่พบได้ในท้องที่ เช่น สีดำได้จากผลมะเกลือ สีเขียวเหลืองได้จากเปลือกประโหด ส่วนใหญ่เนื้อผ้าด้านหนึ่งมักเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า อันเนื่องมาจาก ใช้ลายขัด 3 ตะกอในการทอ ไม่ได้ทอด้วยลายขัด 2 ตะกอแบบทั่วไป

ผ้าโฮลเป็นผ้าพิเศษ ที่จะถูกนุ่งในวันสำคัญ ๆ เท่านั้น ผ้าโฮลมีทั้งความสวยงาม และทรงคุณค่า ยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น