วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทุ่งทานตะวัน

ทุ่งทานตะวันบานแล้ว ที่ ม.ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
 





 

แม้ในพื้นที่ จ.สุรินทร์จะยังไม่หนาวเย็นมากนัก แต่อุณหภูมิที่ลดลงเริ่มทำให้ต้นทานตะวัน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ทีปลูกไว้ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเริ่มเบ่งบานมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่บานเต็มสวนก็ตาม แต่ก็พบว่ามีประชาชนและนักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสนใจเดินทางมาชมความงามและเก็บภาพบรรยากาศทุ่งทานตะวันไว้เป็นที่ระลึกกันอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็นในแต่ละวัน และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและบันทึกภาพแห่งใหม่ของ จ.สุรินทร์ไปแล้ว ขณะที่คู่บ่าวสาวก็มักจะพากันมาถ่ายรูปคู่ที่สวนทานตะวันแห่งนี้อีกด้วยเช่นกัน


สำหรับสวนทานตะวันดังกล่าว นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์ ปลูกไว้ โดยเป็นวิชาเรียนพืชเศรษฐกิจ และมักจะปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพื่อเป็นกิจกรรมในการเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนเด็กนักเรียนนักศึกษาให้ปลูกพืชเกษตรหลายๆพืช โดยเฉพาะต้นทานตะวันที่ปลูกบนพื้นที่กว่า 8 ไร่ จนสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนแห่งใหม่ให้กับประชาชนได้อีกด้วย.


ผ้าไหมสุรินทร์

คำว่า “โฮล” เป็นภาษาเขมร แปลว่าไหล อันสื่อความหมายถึง การไหลมาเทมาของเงินทองเกียรติยศ ชื่อเสียง และความมั่งคั่งของผู้สวมใส่ ผ้าไหมโฮล ยังหมายถึง ผ้าไหมลายน้ำไหลซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน
ผ้าโฮล เป็นผ้าทอพื้นเมืองสุรินทร์ และเป็นราชินีแห่งผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลานผ้าโฮลเป็นผ้าที่มีสีสันและลวดลายเด่น ลักษณะการทอจะเป็นจุดประสลับกับเส้นตรง ใช้ไหมคู่ 2 สีทอสลับกันเป็นลายตลอดไปทั้งผืน บางแห่งเรียกโฮลใบไผ่เนื่องจากมีลักษณะเป็นลายริ้วสลับกับลายมัดหมี่ ที่มีความกว้างประมาณครึ่งนิ้ว สลับกันไปดูคล้ายใบไผ่ ส่วนลายริ้วเปรียบเสมือนก้านใบไผ่เมื่อดูภาพรวมของลายผ้าจะคล้ายป่ามีปล่องช่องเขา มีลำธารน้ำ โฮลแดงเป็นการผสมผสานระหว่างลวดลายโบราณแต่มีการย้อมสีให้ออกสีแดงโดยใช้สีธรรมชาติในการมัดย้อม จึงเรียกว่า โฮลแดง นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในหมู่บ้านปราสาทเบงหมู่ที่ 14 ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

ผ้าโฮล เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมามีความสวยงาม ประณีต ในการทอ ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ กรรมวิธีในการทอผ้าทุกผืนจะต้องมีชายดังคำพังเพยของคนโบราณที่ว่า “ผู้หญิงสวยหน้า ทอผ้าสวยชาย” ลักษณะการทอชายผ้าหรือริมผ้าจะแตกต่างจากการทอผ้าชนิดอื่น คือมีการดึงเส้นไหมที่อยู่ชายผ้าตลบย้อนกลับเข้ามาในผืนผ้าเป็นการเก็บชายผ้า ทำให้ผ้าไม่ขาด และชายผ้าหนาขึ้น ดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญการมัดย้อมจะเริ่มต้นด้วยการย้อมสีแดงจากครั่งซึ่งเป็นสีที่ติดทนนาน สีไม่ตก ไม่หดตัว จึงถือว่าสีแดงเป็นเอกลักษณ์ของผ้าโฮล เหมาะสำหรับการนำไปตัดเย็บเพื่อสวมใส่หรือแปรรูปเป็นกระเป๋าก็ได้
ผ้าไหมมัดหมี่โฮลเปรียบเสมือนงานศิลปะ ที่ศิลปินในอดีตได้จินตนาการและคิดค้นขึ้นมา สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็น
ภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน


ผ้าโฮลเป็นผ้ามัดหมี่ที่ถูกประยุกต์มาจากผ้าปูมของเขมร จัดว่ามีลวดลายและกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนมาก เอกลักษณ์ของลายผ้าจังหวัดสุรินทร์ มีที่มาจาก กลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวไทเขมร ที่อพยพมาจากเขมร และชาวไทกูย ซึ่งอพยพมาจากลาว สุรินทร์จึงมีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนไปสู่ผ้าของสุรินทร์ที่ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ผ้ายก ผ้าอันปรม ผ้าสมอ ผ้าละเบิก ผ้ากระนิว(หางกระรอก) ผ้าชะโน๊ดลื้อ(ลายลูกแก้ว) ผ้าตรุยสะแน๊ ผ้าสาคู หรือ ผ้าโฮล ซึ่งถือว่าเป็นผ้าที่มีค่าสูงสุดในบรรดาผ้าสุรินทร์ทั้งหมด

มัดหมี่โฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอจากเส้นไหมน้อยที่มีขนาดเล็กละเอียด มีภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ลายผ้า 2 ลายด้วยการมัดหมี่ในครั้งเดียว ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะย์ ของผู้ชาย และ ผ้าโฮลเสร็ย ของผู้หญิง โดยเมื่อนำมาทอเป็นผ้าโฮลเสร็ย จะใช้วิธีการดึงลายให้เกิดลวดลายอีกแบบหนึ่งและเพิ่มองค์ประกอบของลวดลายเพิ่มเข้าไปซึ่งทำให้แตกต่างจากลายโฮลเปราะห์ ที่เป็นการอำพรางลายผ้าโฮลแบบของผู้ชายเอาไว้ รูปแบบลายมัดหมี่โฮลเหมือนสายน้ำไหล ซึ่งตามภาษาท้องถิ่นนั้น โฮลแปลว่าน้ำไหล ลายของผืนผ้า มีลักษณะเป็นลายริ้ว คล้ายก้านไผ่ และใบไผ่ คั่นด้วยเส้นไหมหางกระรอก มีความหมายว่า ความกลมเกลียวในหมู่คณะ



สีสันที่ย้อมเส้นไหม เป็นสีย้อมธรรมชาติที่แสดงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น สีหลักบนพื้นผ้าเป็นสีแดงเข้มที่ย้อมมาจากครั่ง ผสมผสานด้วยสีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งหมด 3 สี ได้แก่ เหลือง แดง น้ำเงิน มาผสมให้ได้ 5 สี คือ เหลือง แดง น้ำเงิน ม่วง (จากการผสมน้ำเงินกับแดง) และ เขียว (จากการผสมเหลืองกับน้ำเงิน) โดยย้อมสีแดงที่ได้จากครั่งเป็นอันดับแรก ตามด้วยสีเหลืองจากแก่นเขหรือแกแล และย้อมสีน้ำเงินด้วยครามเป็นลำดับสุดท้าย ในบางครั้งอาจจะมีการใช้สีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ที่พบได้ในท้องที่ เช่น สีดำได้จากผลมะเกลือ สีเขียวเหลืองได้จากเปลือกประโหด ส่วนใหญ่เนื้อผ้าด้านหนึ่งมักเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า อันเนื่องมาจาก ใช้ลายขัด 3 ตะกอในการทอ ไม่ได้ทอด้วยลายขัด 2 ตะกอแบบทั่วไป

ผ้าโฮลเป็นผ้าพิเศษ ที่จะถูกนุ่งในวันสำคัญ ๆ เท่านั้น ผ้าโฮลมีทั้งความสวยงาม และทรงคุณค่า ยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน

มหัศจรรย์งานช้าง


 จังหวัดสุรินทร์ ขอเชิญร่วมงาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2557" ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 5-16 พ.ย. 2557 รวม 12 วัน ที่สนามกีฬาศรีณรงค์ และจัดงานแสดงช้าง ในวันเสาร์ที่ 15 และวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. 2557  ณ สนามแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์

           ความเป็นมา

           เมื่อปี พ.ศ. 2498 มีการรวมช้างทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นเป็นครั้งแรกมีการรวมกันประมาณ 200 เชือก ที่อำเภอท่าตูม โดยนายอำเภอท่าตูม คือ นายวินัย สุวรรณกาศ เป็นผู้จัดขึ้น ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจมากนายอำเภอจึงดำริจัดงานช้างขึ้นครั้งแรกในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2503 ซึ่งเป็นการฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ โดยจัดบริเวณสนามบินเก่าอำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนประชาเสริมวิทย์) โดยการจัดงานในครั้งนั้นมีรายการแสดง การเดินขบวนแห่ช้าง การคล้องช้างการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว และยังมีการแสดงรื่นเริงอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย เช่น มีการแข่งเรือ, แข่งขันกีฬาอำเภอ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะได้มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจมาก

           องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.ปัจจุบัน คือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท.) จึงเสนอกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนจัดการแสดงเกี่ยวกับช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นงานประเพณีและเป็นงานประจำปี โดยวางแผนประชาสัมพันธ์ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์พร้อมทั้งมีการจัดเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กำหนดงานเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2504 เป็นปีที่ 2 จัดที่ อำเภอท่าตูมเช่นเดิมงานช้างปีที่ 2 ประสบความสำเร็จด้วยดี มีหลักฐานยืนยันได้ คือ หนังสือพิมพ์เซ่นซีลอนอ๊อฟเซิฟเวอร์พิมพ์ในศรีลังกาลง วันที่ 2 ธ.ค. 2505 ข้อเขียนของมีสเตอร์อัลแฟน ซตาเร็กซ์เป็นนักข่าวชาวศรีลังกา มีโอกาสมาเที่ยวงานช้างจังหวัดสุรินทร์แล้วกลับไปเขียนเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า "รายการนำเที่ยว ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างงดงามรายการหนึ่งของไทย ก็คือการนำชมการคล้องช้างซึ่งน่าดูยิ่งนักที่จังหวัดสุรินทร์ ในทุกเดือนพฤศจิกายนเป็นรายการที่ทำรายได้ถึง 50 รูปี เมื่อปีก่อน" (ปราโมทย์ทัศนาสุวรรณ.2519 : 243-245) การแสดงของช้างในปีต่อ ๆ มา ได้ปรับปรุงรูปแบบให้สวยงามน่าตื่นเต้นมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะในรายการแสดงของช้าง ประกอบด้วยรายการต่าง ๆ ได้แก่ขบวนช้างพาเหรดช้างปฏิบัติตามคำสั่งช้างแสนรู้ ช้างวิ่งเร็ว ช้างวิ่งข้ามคน ช้างเตะฟุตบอลและขบวนช้างศึกเป็นอันว่าตั้งแต่มีการแสดงช้างของ จังหวัดสุรินทร์ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2503 ก็ได้มีการจัดงานแสดงช้างต่อเนื่องมาทุกปีทำให้คนทั้งในประเทศรู้จักช้างจังหวัดสุรินทร์เป็นอย่างดีว่าเป็นจังหวัดที่มีช้างที่แสนรู้มากที่สุดต่อมาเมื่อการแสดงช้างเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นทางคณะกรรมการเห็นว่าควรย้ายสถานที่แสดงจากอำเภอท่าตูมมายังสถานที่ใกล้ไปมาสะดวกเพื่อความเหมาะสมจึงได้มาจัดการแสดงที่สนามกีฬาจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นจนถึงปัจจุบัน
 
            นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เผยว่า จังหวัดสุรินทร์ เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีการเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมาก และมีการจัดงานแสดงของช้างเป็นงานประจำปี เพื่อแสดงถึงความสามารถของช้าง และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ในงานจะมีการจัดนิทรรศการการออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงช้าง ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตความผูกพันระหว่างช้างกับชาวสุรินทร์ การจำลองพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง เช่น การคล้องช้าง การชักเย่อคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล การจำลองขบวนช้างศึกสงครามยุทธหัตถี






                                              ภาพจาก surin.go.th
 กำหนดการ

           5-16 พ.ย. 57                  งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ณ สนามกีฬาศรีณรงค์

           5 พ.ย. 57         

           เวลา 17.00 น.               เปิดงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์  ณ สนามแสดงช้าง

           13 พ.ย. 57       

          เวลา 08.30-18.30 น.      ซ้อมใหญ่งานแสดงช้าง ณ สนามแสดงช้าง และประกวดรถอาหารช้าง ณ บริเวณหน้าอนุเสาวรีย์พระยาสุรินทร์ฯ
 
           14 พ.ย. 57       

           เวลา 08.00-12.00 น.     งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง ณ จากสถานีรถไฟ ขบวนเคลื่อนมาบริเวณอนุเสาวรีย์พระยาสุรินทร์ ฯ

           เวลา 18.00 น.               งานแสดงแสง สี เสียง  ณ ปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขภูมิ

          15 พ.ย. 57

           เวลา 09.00-12.00 น.     การแสดงช้างรอบแรก ณ สนามแสดงช้าง

           เวลา 18.00 น.               งานแสดง แสง สี เสียง ณ ปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ

          16 พ.ย. 57                   

           เวลา 09.00-11.30 น.     การแสดงช้าง รอบสุดท้าย ณ สนามแสดงช้าง

           เวลา 21.00 น.               ออกสลากการกุศล ณ เวทีกลาง งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์กีฬาศรีณรงค์


          ราคาบัตรเข้าชมงานแสดงช้าง
          1. วันซ้อมใหญ่ วันที่ 13 พ.ย. 57 เวลา 08.30 น. ราคา 40 บาท ทุกที่นั่ง

          2. วันที่ 15 ถึง 16 พ.ย. 57

          - ราคา 1000, 500, 300 บาท (บัตรนั่งตามเลขที่บัตร) การโอนเงินค่าบัตร ชื่อบัญชี งานแสดงช้างและงานกาชาด จังหวัดสุรินทร์ เลขที่บัญชี 310-0-71191-2 ธนาคารกรุงไทย สาขาสุรินทร์ บัญชีออมทรัพย์ หรือสามารถ ดาวน์โหลดใบจอง ได้ที่ www.surin.go.th  หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0 4451 2039 

          - ราคา 40 บาท (บัตรยืน)

           ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสั่งจองบัตรได้ที่สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ 0 4451 2039 หรือเว็บไซต์ surin.go.th